คุณกำลังมองหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนติดฟิล์มรถยนต์อยู่ โดยเฉพาะการเลือกความเข้มฟิล์มรถที่เหมาะสมกับการขับขี่ของคุณใช่ไหมครับ? หากคำตอบคือ “ใช่” เราขอแสดงความยินดีด้วย เพราะคุณกำลังอ่านถูกบทความแล้ว ! แต่ถ้าไม่ใช่ … ก็ถือว่ามาเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับฟิล์มรถยนต์ไปด้วยกันได้ครับ ^^ เพราะวันนี้เราจะมาแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เจาะลึก และครบถ้วน เกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ใช้รถคนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นคือเรื่อง “ฟิล์ม 40 / 60 / 80” … อันนี้ไม่ได้มาใบ้เลขเด็ดกันนะครับผม! แต่เราพาคุณมาไขข้อสงสัยไปด้วยกันว่า ประโยคยอดฮิตในวงการฟิล์มกรองแสงนี้ มันคืออะไร? ต่างกันยังไง?
เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจ กดที่นี่ได้เลยครับ
|
ฟิล์มรถยนต์ 40 / 60 / 80 ตัวเลขนี้คืออะไร?
เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ชินกันวิธีการเรียกความเข้มของฟิล์มกรองแสง ไปตามตัวเลขที่มากขึ้น ในลักษณะที่ว่า “ฟิล์มยิ่งเข้ม ตัวเลขแทนความเข้มยิ่งมีค่าสูง” เช่น ฟิล์ม 60 เข้มกว่าฟิล์ม 40 เป็นต้น หากเปรียบเทียบความเข้าใจ ฟิล์มใสสำหรับคนไทย ก็คงจะเป็นฟิล์มรถยนต์เบอร์ 0% และฟิล์มรถเบอร์เข้มที่สุดก็จะเป็นฟิล์ม 100% ครับ
แต่สาเหตุที่ตัวเลข 40 60 80 กำเนิดขึ้นมาในวงการฟิล์มกรองแสงเมืองไทยนั้น เกิดจากการที่ร้านฟิล์มในประเทศไทย นิยมเลือกนำเข้าฟิล์มกรองแสงเข้มๆ ที่มีค่ากันร้อนสูงมาจำหน่าย (เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน) เพราะฉะนั้น เฉดความเข้มฟิล์มกรองแสง พิมพ์นิยม ในบ้านเราจึงตกอยู่ในตัวเลข 3 ค่านี้ด้วยกัน นั่นก็คือ
ฟิล์มรถยนต์ 40 = เข้มน้อย มองจากภายนอกยังเห็นห้องโดยสารภายในได้
ฟิล์มรถยนต์ 60 = เข้มปานกลาง ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายทั่วไป
ฟิล์มรถยนต์ 80 = เข้มมาก ฟิล์มมองจากภายนอกจะดูเข้ม เน้นความเป็นส่วนตัว
ซึ่งการเรียกชื่อฟิล์มรถ 40 60 80 แบบนี้ ก็ยังเป็นวิธีสื่อสารที่เซลล์ขายรถ หรือเจ้าของร้านฟิล์มยังนิยมใช้สื่อสารกับลูกค้ากันอยู่ ด้วยสาเหตุที่ว่า “เป็นประโยคที่ลูกค้าเข้าใจง่าย และรับรู้กันมาแต่ดั่งเดิม” ครับ…แต่ แต่ แต่ คุณเคยสงสัยมั้ย ?
ฟิล์มกรองแสง มีความเข้มให้เลือกแค่ 3 ระดับเท่านั้น จริง ๆ หรอ ? |
คำตอบสั้นๆ ก็คือ ไม่จริง! เพราะตามมาตรฐานสากลจากสหรัฐอเมริกาแล้ว การเลือกเฉดความเข้มของฟิล์มกรองแสงสามารถทำได้ละเอียดกว่านั้นมากๆ ครับ และค่าที่ว่านี้อยู่ในสเปคสากลที่มีชื่อว่า ค่า Visible Light Transmission (VLT) หรือ ค่าแสงส่องผ่าน นั่นเอง
ค่าแสงสว่างส่องผ่าน (Visible Light Transmission : VLT) คืออะไร?
ค่า
VLT คือ ค่าที่บอกถึงปริมาณของแสงสว่างที่สามารถส่องผ่านฟิล์มกรองแสงเข้ามาภายในรถได้ โดยแสดงในรูปแบบเปอร์เซ็นต์
ถ้าค่า % ยิ่งน้อย หมายถึง แสงผ่านเข้ามาได้น้อย สีฟิล์มก็ยิ่งเข้ม และถ้าค่า % สูง หมายถึง แสงผ่านเข้ามาได้มาก สีฟิล์มจะยิ่งใส จะเห็นได้ว่าการระบุสเปกของฟิล์มตามค่า %VLT จะทำได้ละเอียดกว่าการระบุความเข้มแบบ 40 / 60 / 80 มากๆ
อย่างไรก็ตาม หากเรานำค่าความเข้มฟิล์ม 40 / 60 / 80 แบบฉบับของไทย มาจัดหมวดหมู่แบบสากลตามสเกลค่า %VLT เราก็จะได้คำตอบประมาณนี้ครับ
ฟิล์มรถยนต์ 40 = มีค่า VLT อยู่ในช่วง 40 - 80%
ฟิล์มรถยนต์ 60 = มีค่า VLT อยู่ในช่วง 20 - 39%
ฟิล์มรถยนต์ 80 = มีค่า VLT อยู่ในช่วง 5-19%
ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าความเข้มฟิล์ม 40 / 60 / 80
แบบฉบับของคนไทย เทียบกับค่า VLT ตามมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม ค่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อการลดความร้อนจากแสงแดดแบบมีนัยยะสำคัญ อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจนะครับ “ว่าฟิล์มยิ่งเข้มยิ่งกันร้อนได้ดี” หากอยากรู้ว่าเป็นเพราะอะไรลองเชคคุณสมบัติฟิล์มใสกันร้อนสูงของเรา
Lamina Digital Special Series ได้ครับ จะเห็นได้ว่ากันร้อนได้ดีเยี่ยมไม่แพ้ฟิล์มเข้มเลย ฉะนั้น หรือค่า %VLT จึงควรใช้เป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อฟิล์ม และอย่าลืมดูค่าอื่น ๆ ประกอบเพิ่มเติมด้วย ซึ่งคุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก Infographic
“เลือกฟิล์มกันร้อน ห้ามดูค่าเดียว” นะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ก่อนเลือกซื้อฟิล์มกรองแสง มาทำความรู้จักกับฟิล์มกรองแสงให้มากขึ้น ทั้งเทคโนโลยีการผลิต ประโยชน์ที่คุณคาดไม่ถึง พร้อมทำความเข้าใจวิธีการอ่านค่าสเปคต่าง ๆ โดยละเอียดได้ที่บทความ ฟิล์มกรองแสง |
ความเข้มของฟิล์ม ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง
เราได้รู้แล้วว่าฟิล์มแต่ละรุ่นมีค่า %VLT ที่ต่างกันได้มากมาย (ถ้าลืมว่า VLT คืออะไร ย้อนกลับไปอ่านข้างบนได้นะครับ) แต่แล้วปัจจัยอะไรกันล่ะ ที่ทำให้ฟิล์มรถยนต์มีเฉดความทึบ หรือความเข้มต่างกันยังไง? ไปดูกันต่อเลยดีกว่าครับ
VDO นี้ ลามิน่าจะพาคุณไปดูกรรมวิธีการย้อมสีฟิล์มกัน (นาทีที่ 23.32)
ปัจจัยที่ 1 : ขั้นตอนการย้อมสี
ในขั้นตอนของการย้อมสีนี้ จะเป็นการนำเฉดสีที่ต้องการ มาย้อมฝังสีเข้าสู่ตัวเนื้อฟิล์ม ซึ่งเฉดสีเองก็จะส่งผลต่อความเข้มฟิล์มรถยนต์ด้วยเช่นกันครับ ขอยกตัวอย่างขั้นตอนการย้อมสีจากโรงงาน Eastman Chemical (โรงงานผลิตฟิล์มชั้นนำจากอเมริกา ที่ Lamina Films นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเป็นรายแรกครับ)
ที่โรงงานสามารถ สร้างสรรค์สีของฟิล์มได้มากกว่า 4,000 เฉดสี ซึ่งเกิดจากการผสมแม่สี 3 สีหลัก นั่นก็คือ สีแดง (Red), สีเหลือง (Yellow) และสีน้ำเงิน (Blue) และในระหว่างกระบวนการนี้ จะมีการนำสารดูดซับรังสี UV ผสมเข้าไปในผงสีด้วย
ปัจจัยที่ 2 : วัสดุกันร้อนบางชนิด ส่งผลต่อสีและความเข้มของฟิล์ม
หลังจากการย้อมสีให้ฝังเข้าไปในเนื้อฟิล์มกรองแสงแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเคลือบวัสดุกันร้อน ไม่ว่าจะเป็นสารโลหะ (อย่างเช่น ไทเทเนียม, ทอง, เงิน, อลูมิเนียม, ทองแดง ฯลฯ) หรืออโลหะ (อย่างเช่น เซรามิค หรือ คาร์บอน) สารบางชนิดสามารถมีผลต่อสีและความเข้มของฟิล์มได้ ยกตัวอย่าง ธาตุคาร์บอน (C) ที่มีสีดำในตัวเองเป็นธรรมชาติ เมื่อเคลือบฟิล์มแล้วจะส่งผลให้ฟิล์มมีสีดำเข้มขึ้นเล็กน้อย
ปัจจัยที่ 3 : สีเดิมของกระจกรถยนต์
เป็นปัจจัยที่ไม่ได้เกิดจากฟิล์มโดยตรง แต่เป็นสีที่เพี้ยนไปจากการที่ติดฟิล์มบนกระจกรถยนต์ที่มีสีดั้งเดิมอยู่แล้ว ซึ่งสีกระจกของรถยนต์แต่ละคัน แต่ละรุ่นก็มีสี ความเข้ม และความใสไม่เหมือนกัน ทำให้เมื่อติดฟิล์มกรองแสงเข้าไปในรถแต่ละรุ่น ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันเล็กน้อย
ยกตัวอย่างเช่นรถตั้งแต่ช่วงปี 90’ ลงไป ที่สีกระจกจะมีสีชาเป็นทุนเดิม รถรุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ขึ้นมา สีกระจกก็มักจะอมสีเขียว และรถนำเข้าบางรุ่นอาจมีการติดตั้ง Privacy Glass มาแล้วจากโรงงาน ซึ่งเป็นกระจกที่มีความเข้มเหมือนติดฟิล์มมาแล้ว เป็นต้น
ปัจจัยที่ 4 : ขนาดของบานกระจกรถยนต์
อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้มฟิล์มรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากตัวรถ ไม่มีผลกับสเปคฟิล์ม แต่มีผลกับความรู้สึกเมื่อได้มองจากภายนอก นั่นก็คือ ขนาดของบานกระจกรถยนต์ครับ (โดยเฉพาะกระจกบานหน้า และกระจกบานหลัง) และจำนวนของบานกระจกที่มีในรถยนต์ (เช่น มีซันรูฟด้านบนเพิ่ม) กล่าวคือ…
รถที่มีพื้นที่กระจกมาก จะมีช่องให้แสงส่องผ่านเข้าสู่ห้องโดยสารได้มาก
เมื่อมองจากภายนอกจึงเห็นห้องโดยสารภายในชัดเจนกว่ารถที่มีพื้นที่กระจกน้อย |
เพราะฉะนั้นพี่ ๆ ช่างติดฟิล์มลามิน่าจึงฝากมาบอกว่า ถ้าคุณติดฟิล์มรถยนต์เบอร์ 60% ให้รถสปอร์ต (มักมีเพียงกระจกบานหน้าและกระจกบานคู่หน้า รวม 3 บาน) มันอาจดูเข้มจากภายนอกเหมือนฟิล์ม 80% บนรถซิตี้คาร์ทั่ว ๆ ไปเลยก็ได้
มาดูตัวอย่างกันครับ กับ Ford Mustang GT350 ที่เป็นตัวแทนของรถสปอร์ต 2 ประตูที่มีจำนวนบานหน้าต่างน้อย และ Haval Jolion ที่เป็นตัวแทนของรถ SUV มาพร้อมกระจกหลายบาน ซึ่งทั้งสองคันนี้ ติดฟิล์มรุ่นเดียวกัน สีเดียวกัน นั่นก็คีอ L15 Digital Ceramatrix นั่นเอง ลองเลื่อนดูด้านล่างได้เลยครับ
รถสปอร์ต 2 ประตู
ติดฟิล์มกระจกบานหน้า L30 Digital Ceramatrix
และติดฟิล์มรอบคัน L15 Digital Ceramatrix
รถ SUV 4 ประตู พร้อมซันรูฟ
ติดฟิล์มกระจกบานหน้า L30 Digital Ceramatrix
และติดฟิล์มรอบคัน+ซันรูฟ L15 Digital Ceramatrix
เทียบกันแบบนี้ ชัดเจนเลยใช่มั้ยล่ะครับ ว่าแม้รุ่นฟิล์มจะเหมือนกัน แต่เมื่อติดตั้งบนกระจกรถคนละไซส์
ไม่ว่าจะเป็น รถสปอร์ต, รถเก๋ง, รถ SUV หรือรถกระบะ ก็อาจที่ทำให้สีฟิล์มดูแตกต่างกันได้ด้วย
|
คำถามที่ต้องตอบ ก่อนเลือกติดฟิล์มรถยนต์
ส่วนใหญ่ขับรถในช่วงเวลาไหน?
ขับกลางวัน หรือกลางคืน … ช่วงไหนบ่อยกว่ากัน? ถ้าคุณเป็นคนที่มี Lifestyle ชีวิตประจำวันขับรถในช่วงกลางวันบ่อย ก็สามารถติดฟิล์มรถยนต์สีเข้มได้ เช่นบานหน้า 60, รอบคัน 80 แต่ถ้าขับกลางคืนบ่อย ๆ แนะนำเป็นติดบานหน้าสัก 40 (หรือค่า VLT ฟิล์มติดกระจกบานหน้าไม่ต่ำกว่า 30%) และรอบคัน 60 ครับ
ใช้กระจกมองหลังตอนถอยจอดหรือไม่
ถ้าคุณเป็นคนที่ใช้กระจกมองหลังตอนถอยรถเข้าซอง ความเข้มของฟิล์มที่ติดกระจกบานหลังไม่ควรเข้มกว่า 60 แต่ถ้าคุณไม่ได้กระจกมองหลังสักเท่าไหร่ เนื่องจากถนัดมองกล้องหลังบนจอ LCD ในรถอยู่แล้ว จะติดเข้มแค่ไหนก็ได้ แล้วแต่ความชอบได้เลยครับ
สายตาของท่านเป็นอย่างไร
หากคุณมีภาวะสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการสายตาสั้น สายตาเอียง หรือสายตายาวก็ตาม การติดฟิล์มกรองแสง เราอยากให้คุณใส่ใจเรื่องทัศนวิสัยมาก่อนเป็นอันดับแรก ลามิน่าแนะนำให้ติดฟิล์มกระจกบานหน้าที่ความเข้ม 40 ไว้ก่อน (ค่า VLT ฟิล์มติดกระจกบานหน้าไม่ต่ำกว่า 30%) นอกจากนี้ควรติดตั้งฟิล์มเงาน้อย (ค่า VLR ไม่เกิน 15%) เพื่อลดการสะท้อนแสงไฟเวลาขับกลางคืน เพราะความปลอดภัยสำคัญที่สุดครับ
สรุป
ความเข้มฟิล์มรถยนต์ 40 / 60 / 80 เป็นการเรียกค่าความเข้มของฟิล์มที่มีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ยิ่งค่าสูง ยิ่งหมายถึงมีความเข้มสูง แต่ในทางกลับกัน ระบบสากลจะใช้ค่า %VLT (Visible Light Transmission) เป็นมาตรฐาน ค่า % ยิ่งมาก ฟิล์มยิ่งใส ทั้งนี้คุณควรเลือกความเข้มของฟิล์มรถยนต์ให้เหมาะกับการใช้งานของท่าน นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว จะได้ปลอดภัยต่อการขับขี่ด้วยครับ
ศึกษาให้ดีก่อนเลือกซื้อ เพราะฟิล์มกรองแสงรถยนต์ จะอยู่กับรถคู่ใจของเราไปอีกนาน สำหรับใครที่ต้องการศึกษาเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฟิล์มกรองแสง สามารถตามไปอ่านบทความอื่น ๆ ของเราได้เลย
สำหรับฟิล์มรถยนต์จาก Lamina เรามีหลากหลายสี หลากหลายประเภทมากเลยครับ!
ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเลือกฟิล์มรถยนต์แบบไหนดี Lamina แนะนำ! ลองไปจำลองติดฟิล์มรถยนต์กันได้เลยครับ